Buddha _MG_9005a.jpg
 
 

ธรรมเทศนา

เป็นภาษาไทย (mp3)

วิดีโอ

เป็นภาษาไทย

หนังสือธรรม

เป็นภาษาไทย (pdf)

วัดป่านานาชาติ

 


วัดป่านานาชาติ เป็นวัดป่าสายวัดหนองป่าพง ที่ตั้งอยู่ในบ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) จากวัดหนองป่าพงเป็นผู้ก่อตั้ง

มูลเหตุและแรงดลใจในการสร้างวัดคือ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พระสุเมโธ (ปัจจุบันคือ พระราชสุเมธาจารย์) ชาวอเมริกัน ได้มาอยู่กับหลวงปู่ชาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้มีพระต่างชาติทยอยกันเดินทางเข้ามาอยู่กับหลวงปู่มากขึ้น พ.ศ. ๒๕๑๘ วัดหนองป่าพงมีพระสงฆ์ทั้งพระไทยและพระต่างชาติ จำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก ฟืนบ่มบาตรก็หายาก หลวงปู่ชาจึงได้อนุญาตให้พระชาวต่างชาติบางรูป ออกมาหาฟืนที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งมีต้นไม้มาก ฟืนก็หาง่าย

ชาวบ้านบุ่งหวายมีจิตศรัทธาในพระสงฆ์วัดหนองป่าพง จึงได้นิมนต์คณะพระภิกษุสามเณรชุดแรกซึ่งมี ๖ รูป บ่มบาตรที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวายและปักกลด พักวิเวกปฏิบัติธรรมต่อ เมื่ออยู่ได้ ๓ วัน ญาติโยมได้ช่วยกันสร้างศาลามุงหญ้าคาพอหลบฝน หลังจากนั้นไม่นานชาวบ้านบุ่งหวายได้ไปกราบหลวงปู่ชา ขอนิมนต์ให้พระเณรอยู่จำพรรษาต่อ หลวงปู่ชาเมตตาให้สร้างสำนักสงฆ์ และมอบหมายให้พระอาจารย์สุเมโธเป็นหัวหน้าสำนัก ญาติโยมได้แบ่งกันเป็นเจ้าภาพในการสร้างกุฏิและเพิงมุงหญ้าคา

ในพรรษาแรกนั้นมีพระทั้งหมด ๑๐ รูป และผ้าขาว ๑ คน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๙ คณะศรัทธาญาติโยมได้นำกฐินมาทอดและได้สร้างศาลาใหม่ 
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เริ่มสร้างวิหาร (พระอุโบสถ) ในตำแหน่งที่พบเสมาเก่า เพื่อให้พระสงฆ์ใช้สวดทำสังฆกรรมต่างๆ ซึ่งสร้างเสร็จในอีกสองปีต่อมา 
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
เนื่องจากพระชาวต่างชาติมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ญาติโยมจึงได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินเพิ่ม ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๘) มีเนื้อที่วัดทั้งหมด ๓๔๓ ไร่ มีกุฏิ ๕๒ หลัง 
พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้ทำกำแพงล้อมรอบวัดและได้มีการปลูกป่าทดแทนขึ้นจากเดิมที่เป็นไร่ปอที่ถูกทิ้งร้างไว้ ปัจจุบันได้กลายเป็นป่าที่สมบูรณ์ขึ้นมา 
เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 
เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ทดแทนหลังเดิมโดยหลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม (พระราชภาวนาวิกรม) เป็นผู้ออกแบบและดูแลควบคุมการดำเนินงานตลอดการก่อสร้าง โดยในครั้งนี้มีชาวบ้านบุ่งหวาย ร่วมกับพระภิกษุสามเณร ทั้งจากวัดหนองป่าพง และวัดป่านานาชาติ ได้ร่วมแรงสามัคคีช่วยกันก่อสร้าง จนเสร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ศาลาหลังใหม่นี้มีชื่อว่า “ฐิตะธรรมศาลา”

วัดป่านานาชาติมีสาขา ๒ แห่ง คือ สำนักสงฆ์ภูจ้อมก้อม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และ สำนักสงฆ์เต่าดำ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

*********

วัตถุประสงค์แรกเริ่มของหลวงปู่ชา ที่ตั้งวัดป่านานาชาติขึ้น คือการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยเป็นภาษาอังกฤษ จนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติ ตามข้อวัตรสายวัดป่าได้ 
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาบวชที่วัดป่านานาชาติ ไม่ว่าจะอายุเท่าใดต้องมาเป็นผ้าขาว ๔-๖ เดือน เป็นสามเณร ๑ ปี เพื่ออบรมบ่มนิสัยให้เหมาะแก่สมณะเพศ ก่อนที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้ เมื่อได้ประสบการณ์ในการปฏิบัติแล้วและได้ศึกษาระบบพระธรรมวินัยพอสมควร คือระยะเวลาห้าพรรษา ก็สามารถช่วยเผยแผ่ศาสนาในวัดสาขาที่ต่างประเทศได้

เนื่องจากว่าการสื่อสารใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผู้ที่ตั้งใจจะบวชที่วัดป่านานาชาติต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษพอสมควร ในปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรสังกัดวัดป่านานาชาติที่อยู่ในเมืองไทย ทั้งหมดมีประมาณ ๔๐ รูป รวมประมาณ ๒๐ สัญชาติ

หลวงปู่ชายังมุ่งหมายให้วัดป่านานาชาติ เป็นที่ฝึกพระภิกษุให้มีคุณสมบัติเป็นผู้นำสงฆ์และปกครองวัดด้วย จึงมีพระภิกษุที่ไปจากวัดป่านานาชาติหลายรูป ที่ได้ไปตั้งสำนักสงฆ์สาขาในต่างประเทศขึ้น ซึ่งกระจายอยู่ในประเทศอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี โปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา แคนาดา และมาเลเซีย เพื่อจะสร้างคณะสงฆ์ในประเทศนั้นขึ้น และให้กำลังใจแก่ญาติโยมในการปฏิบัติ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จำนวนพระภิกษุที่ผ่านการอบรมจากวัดป่านานาชาติ และยังครองเพศบรรพชิตอยู่ปัจจุบันมีประมาณ ๑๐๐ กว่ารูปทั่วโลก

วัดป่านานาชาติเป็นวัดสายวิปัสสนากรรมฐาน และยึดปฏิปทาพร้อมทั้งข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชาเป็นหลัก เพราะฉะนั้นวัดป่านานาชาติเน้นการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

หน้าที่พิเศษของวัดป่านานาชาติคือการแนะนำชีวิตบรรพชิตให้ชาวต่างชาติ นอกจากนั้น วัดป่านานาชาติยังให้การศึกษาด้านศาสนาพุทธแก่ญาติโยมชาวต่างชาติทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักการศาสนาต่างๆ ผู้มาแวะเยี่ยมเยือน ผู้ที่มีความสนใจด้านการวิปัสสนากรรมฐาน ปฏิบัติธรรม ภาวนา นั่งสมาธิ โดยอาจจะเข้าพักในวัด ๓ วัน หนึ่งสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น ตามความสนใจของแต่ละบุคคล และตามข้อกำหนดในกฎระเบียบการเข้าพักของวัด ซึ่งระหว่างที่พักอยู่ในวัดต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีลแปด ประพฤติพรหมจรรย์ ทานอาหารมื้อเดียว และในแต่ละวันก็จะมีตารางกิจกรรมต่างๆ ให้ทำควบคู่ไปกับการศึกษาพระธรรมวินัย รับการอบรมกรรมฐาน ฟังพระธรรมเทศนาและการสนทนาธรรม แลกเปลี่ยนความคิดความเห็น

การใช้ภาษาอังกฤษในการอบรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดป่านานาชาติ การทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาบาลี

วัดป่านานาชาติยึดเอาพระวินัยเป็นแม่แบบในการปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ เป็นหลัก จึงให้ความสำคัญในการแนะนำข้อวินัยบัญญัติต่อผู้ที่ต้องการลองเข้ามาศึกษารูปแบบชีวิตในผ้าเหลืองตั้งแต่แรก และเน้นการอบรมศึกษาด้านพระวินัยสำหรับเหล่าพระสงฆ์ที่บวชแล้ว ทางวัดได้จัดหลักสูตรการเรียนพระวินัยเป็นภาษาอังกฤษขึ้น ที่มีการร่วมกันศึกษาอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเข้าใจอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาสามเดือนในพรรษาทุกๆ ปี

ทางวัดยังทำหน้าที่ในการแปลและแจกหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ออกไปสู่ระดับสากล รวมถึงบทเรียนธรรมศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสอนพระปริยัติธรรมเบื้องต้นแก่พระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติ ตามปกติวัดป่านานาชาติยังเป็นสถานที่สำหรับให้นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน บุคคลทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนา ได้สดับฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล และสนทนาธรรมโดยตลอดเรื่อยมา พร้อมทั้งมีการจัดห้องสมุดทางพระพุทธศาสนา

ทางด้านการสาธารณสงเคราะห์ วัดป่านานาชาติได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการศึกษา ทางวัดจึงได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมด้วยการบรรยายธรรม รวมทั้งมอบทุนการศึกษาให้กับ นักเรียน โรงเรียน สถานศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม อีกทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณกับหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล มูลนิธิ กองทุนต่างๆ วัดอื่นๆ นอกเหนือจากสายวัดป่า โดยต่อเนื่องเรื่อยมา การปฏิบัติดังนี้เป็นการถ่ายทอดสืบต่อซึ่งข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาของหลวงปู่ชาเอาไว้

ในฐานที่วัดป่านานาชาติเป็นวัดสายวัดป่า ทางวัดให้ความสำคัญมากในการอนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในวัดป่านานาชาติเองและในสำนักสาขาทั้งสอง ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติทั้งสองแห่ง

ลำดับเจ้าอาวาสจากอดีต – ปัจจุบัน 
๑) พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๑๙ 
๒) พระอาจารย์ปภากโร ชาวอเมริกัน พ.ศ. ๒๕๒๐ – ๒๕๒๑ 
๓) พระอาจารย์ชาคโร ชาวออสเตรเลีย พ.ศ. ๒๕๒๒ – ๒๕๒๔ 
๔) พระอาจารย์ปสันโน ชาวแคนาดา พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๙ 
๕) พระอาจารย์ชยสาโร ชาวอังกฤษ พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๔ 
๖) พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๕๐ 
๗) พระภาวนาวัชราจารย์ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) ชาวเยอรมัน พ.ศ. ๒๕๕๑ - ปัจจุบัน

 

หนังสือธรรม ภาษาไทย

Thai Dhamma Books